วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
องค์ประกอบของการศึกษาที่มีคุณภาพ
ความหมายของการศึกษาที่มีคุณภาพที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่
15.1.1เป็นการมองคุณภาพในระดับจุลภาคหรือระดับปัจเจกบุคคล
เป็นการมุ่งการสร้างคนและพัฒนาคนเป็นการเฉพาะ
การกำหนดหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่ปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำนี้จะมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในสาระที่กำหนดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
การศึกษาที่มีคุณภาพจึงสะท้อนออกมาในรูปของปริมาณของการเรียนรู้
นั่นคือถ้านักเรียนส่วนใหญ่ทำคะแนนได้สูงในวิชาต่างๆ
ยิ่งมากขึ้นเท่าใดก็แสดงว่าคุณภาพสูงขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ความสามารถในการอ่านออก
เขียนได้และคิดเลขเป็นก็เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานอีกตัวหนึ่งของคุณภาพการศึกษา
ดังนั้นเมื่อมีการเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กในประเทศต่างๆ
จึงใช้คะแนนผลสัมฤทธิ์ในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์
และวิทยาศาสตร์เป็นดัชนีของการเปรียบเทียบ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคะแนนผลสัมฤทธิ์ลักษณะเป็นรูปธรรม
จัดดำเนินการง่าย และเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเรียนรู้ในโรงเรียน
เมื่อพิจารณาถึงการเรียนรู้ในระดับบุคคล
ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของหลักสูตรและโรงเรียนแล้วต้องยอมรับว่าแนวการอธิบายและการกำหนดการเรียนรู้ของมนุษย์ออกมาเป็นสามด้านของบลูม(Bloom,1972) อันได้แก่ พุทธิพิสัย (cognitive
domain) จิตพิสัย (affective domain)
และทักษะพิสัย (psychomotor domain) ยังเป็นกรอบที่อธิบายการเรียนรู้ได้ดีที่สุดในปัจจุบันนี้ทฤษฎีการเรียนรู้ของนักจิตวิทยาก็อธิบายภายใต้กรอบของบลูม
ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้ที่ เรียกว่า ทฤษฎีการเรียนรู้กลุมพุทธินิยม (cognitive
psychology) กลุ่มพฤติกรรมนิยม (behavioral psychology) และกลุ่มแรงจูงใจ (motivation psychology)
พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อและความเข้าใจว่า มนุษย์ประกอบด้วยกายกับจิต
และแบ่งจิตออกเป็นสติปัญญา และอารมณ์หรือความรู้สึก
เมื่อเปรียบเทียบกับกรอบของบลูมแล้ว กาย ได้แก่ psychomotor domain สติปัญญา คือ cognitive domain ส่วนอารมณ์และความรู้สึกคือ
affective domain
เมื่อกล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้
อาจมีความสับสนอยู่บ้างในลักษณะที่ว่า
นักจิตวิทยามีความเชื่อหรือสังกัดอยู่ในทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง
จะปฏิเสธทฤษฎีอื่นโดยสิ้นเชิง แต่ในทางปฏิบัติ
นักการศึกษานักพัฒนาหลักสูตรหรือครูผู้สอน ไม่สามารถเน้นหือเลือกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมายึดเป็นแนวในการจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนได้
เพราะการเรียนรู้ที่เป็นจริงและสมบูรณ์จะต้องเกิดจากการสอนให้ครบทั้งสามทฤษฎีหรือสนองจุดหมายทั้งสามด้านของบลูม
เนื้อหาสาระจะเป็นตัวบอกว่าจะต้องเน้นการเรียนรู้ด้านใดเป็นหลักและการเรียนรู้ส่วนใหญ่จะต้องมุ่งทั้งสามด้าน
เพียงแต่ว่าด้านใดเป็นตัวหลักและด้านใดเป็นเสริม
ธวัชชัย ชัยจิรฉายากุล (2527:32) ได้อธิบายถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดจากการประสานสัมพันธ์ระหว่าง
พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยว่า พุทธิพิสัยซึ่งเน้นการใช้ความคิด
และสติปัญญาทำหน้าที่เป็นผู้นำหรือควบคุมการเรียนรู้ทั้งของตัวมันเองและอีกสองส่วนซึ่งได้แก่
อารมณ์และการใช่กล้ามเนื้อ
ซึ้งสังกัดอยู่ในกลุ่มแรงจูงใจและกลุ่มพฤติกรรมนิยมตามลำดับ
ในการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละส่วนดังกล่าวจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะของสิ่งที่เรียนรู้
ถ้าเป็นการเรียนรู้ในส่วนที่เป็นความรู้และเน้อหาสาระเชิงทฤษฎี
ส่วนที่เป็นสมองและสติปัญญาจะทำงานหนัก
อีกนัยหนึ่งก็คือความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในส่วนที่เป็นสติปัญญา
ถ้าจะเรียนรู้เนื้อหาสาระที่เน้นภาคปฏิบัติหรือการใช้กล้ามเนื้อ เช่น การร่ายรำ
การเล่นกีฬา การทำการฝีมือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการเรียนรู้
ในกรณีนี้จะเน้นที่การใช้กล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวในการปฏิบัติในการปฏิบัติกิจกรรมนั้น
ๆ แต่สติปัญญาหรือสมองก็ยังทำหน้าที่ควบคุมอยู่ เป็นต้นว่า การร่ายรำก็จำเป็นต้องใช้ความจำว่า
เมื่อไร จะรำท่าไหนเพื่อเปลี่ยนท่ารำให้เข้าจังหวะและรับกับเพลงหรือดนตรี
ซึ่งผู้รำจะต้องจำทำนองและจังหวะให้ได้
ในทำนองเดียวกันการเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ก็จะมีสติปัญญาเข้ามาควบคุมและเกี่ยวข้องด้วยเช่น
เมื่อเราจะสอนให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้ง และมีเจตคติที่ดีต่อดนตรีไทย
สติปัญญาจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับรู้ข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ
เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ และพิจารณา เมื่อพบว่าดนตรีไทยมีประโยชน์
มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มีความไพเราะ ก็จะช่วยให้เรียนรู้
ที่จะสังเกตและฟังดนตรีไทยเป็น ความซาบซึ้งและเจตคติที่ดีก็จะเกิดตามมา
และถ้าจะให้เกิดความซาบซึ้งมากกว่านี้
ก็ควรจะเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดได้
จากสิ่งที่นำเสนอข้างบนนี้
แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้ของมนุษย์จะต้องเกิดขึ้นภายใต้องค์ประกอบทั้งสามด้านคือ
พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย
องค์ประกอบทั้งสามนี้จะทำงานโดยมีความสัมพันธ์และประสานกันอย่างใกล้ชิด
โดยมีพุทธิพิสัยเป็นตัวควบคุมหรือเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
ส่วนองค์ประกอบด้านใดมีความโดดเด่นในกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระหรือเรื่องที่จะเรียนรู้
องค์ประกอบของการเรียนรู้ทั้งสามด้านดังกล่าวนี้จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของการศึกษาของมนุษย์
กล่าวคือ นอกจากการเรียนรู้ให้ครบทั้งสามด้านเพื่อประกันคุณภาพแล้ว
ในแต่ละด้านยังบ่งบอกได้อีกว่า การเรียนรู้มีคุณภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับขั้นการเรียนรู้ในองค์ประกอบหรือด้านนั้นๆ
นั่นคือ ยิ่งเรียนรู้ได้ถึงระดับที่สูงขึ้นมากเพียงใด
ก็จะบ่งบอกถึงระดับคุณภาพการเรียนรู้ที่สูงขึ้นเพียงนั้นดังจะอธิบายให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ต่อไป
1.พุทธิพิสัย บลูม (Bloom,1972)
ได้กำหนดจุดหมายหรือระดับคุณภาพของการเรียนรู้ออกเป็น 6 ระดับ ตามลำดับขั้นดังนี้
1. ความรู้ ความจำ (knowledge)
2. ความเข้าใจ (comprehension)
3. การประยุกต์ใช้ (application)
4. การวิเคราะห์ (analysis)
5. การสังเคราะห์ (synthesis)
6. การประเมินผล (evaluation)
การเรียงระดับความสามารถของการเรียนรู้เป็นลำดับก่อนหลังของบลูมนี้ถือว่า
ความรู้หรือความจำ
เป็นความสามารถขั้นต่ำสุดที่เป็นรากฐานของการเรียนรู้ในระที่สูงขึ้นไป
การศึกษาของไทยมักจะถูกตำหนิในเรื่องที่ว่าสอนให้รู้และจำอย่างเดียว คิดไม่เป็น
ก็เพราะครูผู้สอนส่วนใหญ่ไม่ใช้ความพยายามที่จะสอนให้ผู้เรียนมีความสามารถในระดับสูงๆ
ขึ้นไป ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความรู้และความจำ เป็นสิ่งที่สอนได้ง่าย
การออกและการตรวจข้อสอบก็ทำได้ง่าย
ความจริงข้อนี้ยืนยันได้จาการที่โรงเรียนทุกระดับตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลายออกข้อสอบปรนัยที่มีคำตอบให้เลือกอยู่เป็นประจำ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่เสียเวลาตรวจข้อสอบ
และสามารถหาข้อสอบประเภทนี้ได้จากคู่มือของวิชาต่างๆ ในท้องตลาด
ดังนั้นการคิดเป็นที่แสดงออกโดยการรู้จักประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์
และการประเมินเพื่อตัดสินใจ จึงเป็นกิจกรรมทางสมองของผู้เรียนที่ครูมักจะไม่ดำเนินการส่งเสริม
เนื่องจากเป็นการสร้างความยากลำบากและเพิ่มภาระงานให้แก่ครู
การหาโจทย์ปัญหามาให้นักเรียนคิด และการออกข้อสอบอัตนัยให้นักเรียนได้มีโอกาสวิเคราะห์หาคำตอบและเรียบเรียงความคิดจึงเกือบจะไม่ปรากฏในโรงเรียนในปัจจุบัน
ยกเว้นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
และคอมพิวเตอร์ที่ธรรมชาติของวิชาได้กำหนดกรอบให้เกิดกิจกรรมการคิดอยู่แล้ว
จากการจัดลำดับความสามารถทางการเรียนรู้ของบลูมนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า
การจัดกิจกรรมการสอนและการสอบในโรงเรียนยังขาดการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิดและวิเคราะห์
อันเป็นคุณภาพทางการศึกษาที่ทุกสังคมได้ตั้งเป้าหมายไว้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)